การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้โดนใจผู้บริโภค
Product Development for Understanding Consumer
| |||||||||||||||||
| |||||||||||||||||
การพัฒนาผลิตภัณฑ์ เป็นการพัฒนา ปรับปรุง หรือเปลี่ยนแปลงผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค โดยรูปแบบในการพัฒนาอาจเป็นด้านบรรจุภัณฑ์ หรือตัวผลิตภัณฑ์อาหารก็ได้ งานพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นเครื่องมือที่มีความจำเป็น อาศัยทั้งระบบและกลยุทธ์ก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์ (วิชัย, 2550) การสร้างแนวความคิดผลิตภัณฑ์เป็นขั้นตอนเริ่มต้นสำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยอาศัยการเข้าถึงความต้องการหรือความพึงพอใจของผู้บริโภคที่มีต่อผลิตภัณฑ์อย่างแท้จริง การค้นหาความต้องการของผู้บริโภคจำเป็นต้องอาศัยเทคนิคต่างๆ การเลือกใช้เทคนิคใดนั้น ขึ้นกับการพิจารณาความเหมาะสม เช่น วัตถุประสงค์ในการสำรวจ งบประมาณ ระยะเวลา และความรู้ความเข้าใจในเทคนิคของผู้ดำเนินงาน ดังนั้นจึงนำเทคนิคการวิเคราะห์องค์ประกอบร่วม (Conjoint analysis) เทคนิคคาโน (Kano model) และวิธีแฟลชโพรไฟล์ (Flash profile) มาใช้เพื่อค้นหาความต้องการของผู้บริโภคสำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเกลือแร่เพื่อสร้างแนวคิดผลิตภัณฑ์ (Product concept development) ทั้งนี้เครื่องดื่มเกลือแร่เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีโอกาสทางธุรกิจสูง มีคู่แข่งในตลาดน้อย กลุ่มผู้บริโภคจะเป็นกลุ่มที่เล่นกีฬา ออกกำลังกายและผู้ที่สูญเสียเหงื่อเนื่องจากการทำกิจกรรมต่างๆ
วัตถุประสงค์ของการศึกษา เพื่อเปรียบเทียบแนวความคิดผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการใช้เทคนิคการวิเคราะห์องค์ประกอบร่วม (Conjoint analysis) เทคนิคคาโน (Kano model) และ วิธีแฟลช โพรไฟล์ (Flash profile) ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ขั้นตอนการสร้างแนวคิดผลิตภัณฑ์ ตารางที่ 1 เปรียบเทียบ ข้อดี-ข้อด้อย ของเทคนิคการพัฒนาแนวความคิดผลิตภัณฑ์แบบดั้งเดิมและปัจจุบัน
คาโนโมเดล: เป็นเทคนิคหนึ่งที่ใช้ในการศึกษาความต้องการของผู้บริโภค โดยมีหลักการว่าความพึงพอใจของผู้บริโภคที่มีต่อผลิตภัณฑ์นั้นมีความสัมพันธ์กับความสามารถในการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค โดยวิธีของคาโนจะทำการประเมินผลกระทบของคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ต่อความพึงพอใจของผู้บริโภคตามการจำแนกความพึงพอใจ 3 ส่วน คือ ความต้องการขั้นพื้นฐานที่ผลิตภัณฑ์ต้องมี (must-be requirements) ความต้องการที่มีผลต่อความพึงพอใจของผู้บริโภค (one-dimensional requirements) และส่วนที่ทำให้ผู้บริโภคเกิดความประทับใจและดึงดูดใจ (attractive requirements) ผลจากการสำรวจจะทำให้สามารถเลือกคุณลักษณะที่สำคัญในการนำมาสร้างแนวคิดผลิตภัณฑ์ได้ ทั้งนี้อาจมีความสัมพันธ์กับกลุ่มอายุ และกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายด้วย (Sauerwein et al., 1996)
วิธีแฟลชโพรไฟล์: เป็นวิธีการใหม่ปัจจุบันมีการนำใช้ในการสร้างแนวความคิดผลิตภัณฑ์ โดยเป็นการประยุกต์จาก 2 วิธีการคือ Free Choice Profiling และComparative Methodology หลักการคือใช้ผู้ทดสอบที่มีประสบการณ์ในการใช้สเกลทางประสาทสัมผัสและให้คะแนนในแต่ละคุณลักษณะอย่างอิสระแทนการฝึกฝนผู้ทดสอบพร้อมทั้งอธิบายคำจำกัดความทางคุณลักษณะที่ประเมินได้ จากนั้นวิเคราะห์ผลโดยการจัดการข้อมูลทางคณิตศาสตร์แบบโปรครัสท์ (Generalized Procrustes Analysis: GPA) โดยโปรแกรมที่สามารถใช้ได้มีหลายโปรแกรมแต่โปรแกรม XLSTAT เป็นอีกโปรแกรมหนึ่งที่สามารถหาได้ง่าย ข้อดีของวิธีนี้คือสะดวก รวดเร็วและค่าใช้จ่ายน้อย ข้อจำกัดคือไม่สามารถระบุรายละเอียดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้อย่างชัดเจนต้องทำการวิเคราะห์ร่วมกับเทคนิคอื่นๆ เช่น Conjoint Analysis แต่วิธีนี้ก็มีความน่าเชื่อถือได้ระดับหนึ่ง (Sorensonand Bogue, 2006) และเหมาะสำหรับผู้ประกอบการในโรงงานอุตสาหกรรมที่หาผู้ทดสอบที่ผ่านการฝึกฝนได้ยาก
การวิเคราะห์องค์ประกอบร่วม (Conjoint Analysis): เป็นเทคนิคหนึ่งที่ใช้ในการพัฒนาแนวความคิดผลิตภัณฑ์ (Product Concept Development) เพื่อค้นหาว่าคุณลักษณะ (Attribute) สำคัญของผลิตภัณฑ์นั้นคืออะไร และที่ระดับ (level) เท่าใดจึงจะเหมาะสม ที่เป็นตัวกระตุ้นให้ผู้บริโภคเกิดความสนใจและต้องการซื้อผลิตภัณฑ์นั้นๆ ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ทั้งผลิตภัณฑ์ที่จับต้องได้ (Tangible Product) และบริการ (Service) นอกจากนี้ยังสามารถใช้เทคนิคนี้ในการคาดคะเนส่วนแบ่งตลาด (Market share) ได้อีกด้วย (Lassoued et al., 2007)ฃ
ผลการศึกษา :
การสร้างแนวคิดผลิตภัณฑ์จากเทคนิคทั้ง 3 ทำให้ผู้วิจัยสามารถเข้าถึงระดับความต้องการของผู้บริโภคที่แตกต่างกัน โดยเทคนิคคาโนโมเดลสามารถสร้างแนวคิดผลิตภัณฑ์จากลักษณะของผลิตภัณฑ์ทั้งในด้านที่เป็นตัวแปรขับเคลื่อนและลักษณะที่จำเป็นต้องมีของผลิตภัณฑ์ ซึ่งแนวความคิดผลิตภัณฑ์ที่ได้จะสอดคล้องกับเทคนิคแฟลชโพรไฟล์ที่แนวความคิดผลิตภัณฑ์สามารถระบุได้เพียงชนิดของลักษณะของตัวแปรเท่านั้น สำหรับแนวคิดที่ได้จากการใช้เทคนิคการวิเคราะห์องค์ประกอบร่วมนั้น ลักษณะที่สำคัญของผลิตภัณฑ์จะถูกนำมาสร้างคุณลักษณะร่วมกัน (combination) หรือแนวความคิดผลิตภัณฑ์จะสามารถระบุได้ถึงระดับของลักษณะหรือตัวแปรซึ่งผลการประเมินจะทำให้ทราบถึงลักษณะและทิศทางหรือระดับของลักษณะที่มีผลของต่อความชอบของผู้บริโภคที่มีต่อผลิตภัณฑ์ โดยข้อมูลของแนวความคิดผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการวิเคราะห์องค์ประกอบร่วมยังสามารถบอกได้ถึงต้นทุนและการประมาณการส่วนแบ่งทางการตลาดสำหรับผู้ประกอบการอีกด้วย
| |||||||||||||||||
คณะผู้วิจัย : รัชนี เจริญ, ใบศรี สร้อยสน, เสาวภาคย์ วัฒนพาหุ, ศรีเวียง ทิพย์กานนท์, กานต์ญาพันธ์ นันทะวิชัย, ชมภู่ ยิ้มโต และพิสิฏฐ์ ธรรมวิถี หน่วยงาน : ภาควิชาพัฒนาผลิตภัณฑ์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทร. 089-1201256 |
เว็บนี้สร้างขึ้นเพื่อสาธารณประโยชน์ เพื่อใช้ในการเรียนการสอน ตลอดจนแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์จากผุ้ที่มีองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทุกท่านที่สนใจ
วันอังคารที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2557
การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้โดนใจผู้บริโภค
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น